Web Blog การเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ประกอบการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ (สาระเพิ่ม) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ส 22102 และ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส 23102 ครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา ในการฝึกทักษะเรียนรู้พื้นฐาน การจัดการความรู้ ทักษะภาษาดิจิตอล ทักษะการรู้คิดประดิษฐ์สร้าง ทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การสื่อสารที่มีประสิทธิผล ทักษะการสืบค้น ฯลฯ เพื่อพัฒนาไปสู่ทักษะความรู้ที่มุ่งหวังของหลักสูตร โรงเรียนมาตรฐานสากล 6 ประการ ประกอบด้วย (1) ทักษะการเรียนรู้ Learning Skills (2) ทักษะการคิด Thinking Skills (3) ทักษะการแก้ปัญหา Problerm Skills (4) ทักษะชีวิต Life Skills (5) ทักษะการใช้เทคโนโลยี Technology Skills (6) ทักษะการสื่อสาร Communication Skills ทฤษฎีระบบการเรียน KM (Knowlead Maneagement) โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม ประกอบการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา(Word Class Standard)

วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558

6. การวิจารณ์หรือประเมินคุณค่าข้อมูลในทางประวัติศาสตร์

6. การวิจารณ์หรือประเมินคุณค่าข้อมูลในทางประวัติศาสตร์

        เนื่องจากการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์เป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงของสิ่งต่าง ๆ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาแล้วในอดีต จึงมักต้องใช้ข้อมูลซึ่งมาจากรายงานของผู้ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์หรือพยานในเหตุการณ์ ดังนั้นการวิเคราะห์ข้อมูลจึงจำเป็นจะต้องใช้ความรอบคอบและระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้มาซึ่งความจริงในสิ่งนั้น ในการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์มีการวิจารณ์หรือประเมินคุณค่าข้อมูลอยู่ 2 แบบคือ

        6.1 การวิจารณ์หรือการประเมินภายนอก (External criticism or External appraisal) เป็นการประเมินและพิสูจน์ว่าข้อมูลที่เก็บนั้นเป็นอันเดียวกันกับข้อมูลที่ผู้วิจัยมุ่งจะเก็บหรือไม่ หรือเป็นการพิจารณาว่า “ข้อมูลนั้นเป็นของแท้หรือมีความเป็นจริงหรือไม่” นั่นเอง เช่น เอกสารหรือซากโบราณ วัตถุนั้นเป็นของจริงหรือของปลอมหรือจำลองขึ้นมา จำเป็นจะต้องมี การตรวจสอบและพิสูจน์แหล่งที่มาของข้อมูล เช่น อาจใช้การตรวจสอบลายเซ็น ลายมือ ต้นฉบับ การสะกดคำ การใช้ภาษา สำนวนโวหารในการเขียน ตลอดจนค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้องในสมัยเดียวกัน เป็นต้น
ในการวิจารณ์ หรือการประเมินผลภายนอกนี้ อาจพิจารณาได้จาก 3 ประเด็นนี้คือ (กาญจนา มณีแสง. หน้า 103 - 104)
            1) สภาพสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลทำให้เกิดหลักฐานชิ้นนั้น
            2) ความรู้ทั่วไป เช่น สภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของข้อมูลถูกต้องตรงกับความรู้ของเราหรือไม่
            3) มีการดัดแปลง ปลอมแปลง ประดิษฐ์เพิ่มเติมให้บิดเบือนไปจากความเป็นจริงหรือไม่
        ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามใช้วิธีการทดสอบทางฟิสิกส์และเคมี ในการตรวจสอบอายุของโครงกระดูก กระดาษ ใบลาน หมึก แผ่นหนัง หนังสือ ก้อนหิน โลหะ เสื้อผ้า ฯลฯ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าสามารถตรวจสอบได้ เช่น การตรวจสอบหาอายุของโครงกระดูกมนุษย์โบราณโดยใช้ C14 ที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น อันจะช่วยให้เราตัดสินได้ว่าข้อมูลนั้นเป็นของแท้หรือมีความเป็นจริงเพียงใดได้
        6.2 การวิจารณ์หรือการประเมินผลภายใน (Internal criticism or Internal appraisal) เป็นการตรวจสอบข้อมูลที่ลึกซึ้งลงไปอีก เพื่อทราบว่า ข้อมูลนั้นมีคุณภาพที่เที่ยงตรงเชื่อถือได้หรือไม่ มีคุณค่าเพียงใด โดยพิจารณาถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลนั้นดังนี้
            1) พิจารณาผู้เขียนว่าเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้หรือไม่ มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ หรือรู้เห็นในเรื่องนั้น ๆ จริงหรือไม่เพียงใด
            2) พิจารณาว่าผู้เขียนเขียนในขณะที่มีสภาพจิตใจที่เป็นปกติหรือไม่ เช่น ไม่ได้อยู่ในสภาวะที่ถูกบีบบังคับให้เขียน หรือมีความกดดันทางอารมณ์
            3) พิจารณาว่าผู้เขียนบันทึกหลังจากเกิดเหตุการณ์แล้วนานเท่าใด พอจะเชื่อถือได้หรือไม่ว่ายังจำเหตุการณ์นั้นได้
            4) พิจารณาว่าเอกสารนั้นมีบรรณานุกรมที่แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนได้ค้นคว้ามามากน้อยเพียงใด
            5) พิจารณาว่าข้อความที่เขียนนั้นมีอคติเกี่ยวกับศาสนา เชื้อชาติ ลัทธิการเมือง ผลประโยชน์ส่วนตัว หรือสภาวะทางเศรษฐกิจหรือไม่
            6) พิจารณาว่าภาษาหรือสำนวนที่ใช้หรือเรื่องราวที่รายงานนั้นอ้างอิงมาจากบุคคลอื่น ๆ หรือเป็นคำพูดของผู้เขียนเอง
            7) พิจารณาว่าการเขียนนั้นมีแรงจูงใจในการบิดเบือนความจริงหรือไม่ เช่น การได้รับแหล่งเงินสนับสนุน เป็นต้น
            8) พิจารณาว่าเอกสารนั้นพอเพียงทั้งทางด้านคุณภาพและปริมาณที่จะนำมาใช้ในการวิจัยหรือไม่
            9) พิจารณาการจัดเรียงหัวข้อว่าวกไปวนมาหรือไม่ และในแต่ละหัวข้อผู้เขียนกล่าวถึงเรื่องนั้น ๆ ละเอียดมากน้อยเพียงใด
            10) พิจารณาว่าผู้อื่นเห็นด้วยกับผู้เขียนนั้นหรือไม่
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผู้วิจัยจะต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า เอกสารหรือข้อมูลเหล่านั้นมีความถูกต้องเที่ยงตรงและเชื่อถือได้เพียงใด แต่เมื่อได้พิสูจน์ว่า เอกสารนั้น ๆ มีความถูกต้องเที่ยงตรงแล้ว ย่อมจะเห็นหลักฐานที่เชื่อถือได้